การซื้อที่ดินเปล่าสำหรับปลูกบ้านไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะทันทีที่คุณคิดจะปลูกบ้าน คุณก็จะกลายเป็นเหมือนนายช่างใหญ่ที่คอยควบคุมการทำงานตั้งแต่ต้นจนจบ แน่นอนว่าการปลูกบ้านเองย้อมเหนื่อยกว่าการซื้อบ้านตามโครงการเป็นเท่าตัว แต่สิ่งที่ได้มาก็นับว่าคุ้มค่า เพราะคุณจะได้แบบบ้านที่สวยถูกใจในงบประมาณที่คุณต้องการ และเพราะแบบนั้น ที่ดินสำหรับการปลูกบ้านจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากเลือกทำเลที่ดินผิด บ้านที่แสนสุขก็คงจะลดมูลค่าลงในทันที ปัจจัยสำคัญในการเลือกซื้อที่ดินเปล่า มีดังนี้
1. ทำเล
สิ่งสำคัญที่สุดในการสร้างที่อยู่อาศัยก็คือ “ทำเล” ทำเลที่ดินในการปลูกบ้านควรจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้อยู่อาศัย เช่น สามารถเดินทางไปทำงานได้สะดวก ใกล้โรงพยาบาลหรือสถานนีตำรวจ เป็นต้น นอกจากนี้ ควรเลือกพื้นที่ที่ปลอดภัย ไม่เปลี่ยว ไม่อยู่ในโซนอุตสาหกรรม หรือสถานที่ที่อาจก่อให้เกิดปัญหามลพิษ โดยคุณสามารถใช้ความรู้เรื่อง “ผังเมือง” มาประกอบการตัดสินใจได้
2. ราคา
การซื้อขายที่ดินควรคำนึงถึงงบประมาณที่คุณมีอยู่ เป็นธรรมดาที่ที่ทำเลยิ่งดีเท่าไร ราคาที่ดินก็ยิ่งสูงขึ้นเท่านั้น แต่ก็มีที่ดินในราคาที่พอดีกับงบประมาณของคุณในบางพื้นที่เช่นเดียวกัน ดังนั้น คุณไม่ควรใจร้อนหลงเชื่อนายหน้าที่อาจโก่งราคาคุณ ในปัจจุบันมีช่องทางหลากหลายสำหรับตรวจสอบราคาประเมินของที่ดินนั้นๆ ดังนี้
- กรมธนารักษ์: ราคาที่ดินที่ประเมินโดย “กรมธนารักษ์” ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐบาล สามารถตรวจสอบผ่านระบบออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ของกรมธนารักษ์
- ภาคเอกชน: เป็นการประเมินราคาจากผู้เชี่ยวชาญด้านการประเมินที่ดินของบริษัทเอกชน บริษัทอหังสาริมทรัพย์ หรือสถาบันการเงิน โดยข้อมูลจะอิงมาจากกรมธนารักษ์เพื่อนำมากำหนดเป็นราคากลางของตัวเอง
- ราคาตลาด: เป็นการประเมินราคาจากการซื้อขายที่ดินรอบๆบริเวณนั้น ซึ่งอาจสูงหรือต่ำกว่าราคาประเมินอื่นๆขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้ขาย
สิ่งที่ต้องทำเมื่อจะซื้อที่ดินคือการนำราคาประเมินทั้ง 3 แหล่งมาเปรียบเทียบกัน หากราคาที่ดินที่คุณจะซื้อมีความใกล้เคียงกับราคาประเมินเหล่านี้ ก็ถือว่าคุณได้ที่ดินในราคาที่เหมาะสมแล้ว หรืออีกวิธีคือการวิเคราะห์ราราขายเฉลี่ยของที่ดินในระแวงใกล้เคียงนั้นเอง
3. รู้ข้อกฎหมาย
ข้อกฏหมายเบื้องต้นที่คุณจำเป็นต้องรู้เมื่อต้องการซื้อที่ดินเปล่าคือ ระยะร่นของที่ดิน เพื่อดูว่าเราต้องปลูกบ้านห่างจากถนนหรือพื้นที่สาธารณะเท่าไร เพื่อจะได้คำนวณขอบเขตบ้านที่จะสร้าง และควรตรวจสอบกับทางการด้วยว่าที่ดินผืนนั้นมีโอกาสถูกเวนคืนหรือไม่ สามารถซื้อขายได้อย่างถูกต้องรึเปล่า เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาและคดีความที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยคุณสามารถตรวจสอบประวัติของที่ดินได้จากกรมโยธาธิการและผังเมือง
4. สภาพแวดล้อมในอนาคต
พื้นที่โดยรอบคืออีกหนึ่งสิ่งที่ผู้ซื้อที่ดินควรคำนึงถึง โดยเฉพาะโอกาสที่ทำเลนั้นจะพัฒนามากขึ้นในอนาคต เช่น มีรถไฟฟ้า หรือห้างสรรพสินค้า เป็นต้น ยิ่งสภาพแวดล้อมรอบๆเจริญขึ้นเท่าไร มูลค่าที่ดินของคุณก็ย่อมสูงขึ้นตามไปด้วย ทั้งนี้ทั้งนั้น คุณก็ควรพิจารณาด้วยว่าความเจริญนั้นจะขยายมาทับที่ดินของคุณรึเปล่า เพราะหากเป็นแบบนั้นก็มีโอกาสสูงที่ที่ดินของคุณจะถูกเวนคืน หรือไม่ก็อาจมีทางด่วนมาสร้างใกล้ๆบ้านคุณก็เป็นได้
5. สาธารณูปโภค
ตรวจสอบการเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานอย่างไฟฟ้าและน้ำประปา รวมถึงสัญญาณอินเตอร์เน็ตและสัญญาณโทรศัพท์ โดยสามารถตรวจสอบได้จากหน่วยงานภาครัฐหรือผู้ให้บริการเครือข่ายต่างๆ
6. น้ำไม่ท่วม
ตรวจสอบประวัติของที่ดินผืนนั้นว่าเคยประสบปัญหาน้ำท่วมหรือไม่ เพราะพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วมบ่อยๆมักจะนำมาซึ่งปัญหาและความเสียหายภายในบ้านมากมาย และหากคุณต้องการซื้อที่ดินริมน้ำ ก็ควรจะตรวจสอบระดับน้ำขึ้นน้ำลง ความแข็งแรงของตลิ่ง และอัตราการถูกกัดเซาะของหน้าดินในแต่ละปี ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันการซื้อที่ดินที่มีโอกาสทรุดตัวในอนาคตนั้นเอง
7. ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
บางครั้งการตรวจสอบที่ดินเบื้องต้นอาจจะยังไม่เพียงพอ เราจึงอาจต้องขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ความสามารถ โดยเฉพาะในด้ายสถาปัยกรรมและกฏหมาย ดังนั้น เพื่อให้มีข้อผิดพลาดน้อยที่สุด การยอมจ่ายเงินเพิ่มเพียงเล็กน้อยเพื่อปรึกษาผู้เชี่ยวชาญอาจเป็นทางเลือกที่ดีก็ได้
นอกจากปัจจัยเหล่านี้แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในการเลือกซื้อที่ดินคือ เงิน เพราะฉะนั้นก่อนการตัดสินใจซื้อ ก็ควรพิจาณางบประมาณที่มีให้ดี เพราะนอกจากค่าที่ดินแล้ว การปลูกบ้านยังต้องมีค่าใช้จ่ายอีกมากทั้ง ค่ารับเหมาก่อสร้าง ค่าออกแบบ ค่าตกแต่ง เป็นต้น