1. ห้องพระควรอยู่ชั้นบนสุดของบ้าน
พระพุทธรูปถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่สูง ควรค่าแก่การสักการะบูชา ดังนั้น การจัดวางตำแหน่งห้องพระหรือหิ้งพระไว้ต่ำกว่าคนในบ้านจึงถือว่าไม่เป็นมลคล หากบ้านมี 2 ชั้นหรือหลายชั้นให้วางตำแหน่งห้องพระไว้ชั้นบนสุด แต่หากเป็นบ้านชั้นเดียว ก็ควรพิจารณาไม่ให้ตำแหน่งนั้นอยู่ใกล้ห้องน้ำหรือห้องส้วม เพราะจะทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ขององค์พระเสื่อมลง แต่หากมีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ ก็ควรหาตู้มาวางกั้นเพื่อไม่ให้องค์พระติดกับห้องน้ำมากเกินไปเพื่อความเหมาะสม
2. ห้องพระควรอยู่ในพื้นที่สะอาด อากาศถ่ายเทได้ดี
การไหว้พระต้องมีการจุดธูปเทียนบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อไม่ให้ควันไปรบกวนผู้ที่ไหว้พระปฏิบัติธรรม จึงควรวางห้องพระหรือหิ้งพระในตำแหน่งที่สามารถระบายอากาศได้ดี เพื่อเป็นการป้องกันอันตรายที่อาจเกิดจากเพลิงไหม้ นอกจากนี้ตำแหน่งที่วางห้องพระควรสะอาดสะอ้าน เพราะหากห้องพระสกปรก จะส่งผลให้คนในบ้านเจ็บป่วยและไม่มีความสุชได้
3. ห้องพระควรอยู่ในทำเลที่สงบ
ควรจัดห้องพระหรือหิ้งพระในมุมที่สงบ คนไม่พลุกพล่าน เพราะการไหว้พระปฏิบัติธรรมจำเป็นต้องใช้ความสงบ จึงไม่ควรจัดห้องพระติดกับห้องที่มีเสียงดัง ตามหลักฮวงจุ้ย นิยมจัดห้องไว้ที่ตำแหน่งหน้าบ้านซึ่งเป็นตำแหน่งโชคลาภ และตำแหน่งหลังบ้านซึ่งเป็นตำแหน่งบารมีเพื่อช่วยเสริมพลังบวกให้ได้มากที่สุด
4. จัดห้องพระให้ถูกทิศ
ห้องพระควรหันทิศไปทางทิศเหนือ ทิศตะวันออก และทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อเป็นการช่วยเสริมสิริมงคลให้แก่ผู้ที่อยู่อาศัยทั้งในด้านการงานและการเงิน โดยเฉพาะทิศตะวันออก ที่เชื่อกันว่าเป็นทิศที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ นอกจากนี้ยังเป็นทิศที่รับลมรับแสงได้อย่างเหมาะสมอีกด้วย ทิศต้องห้ามคือทิศตะวันตก เพราะเชื่อว่าถ้าหันไปทางทิศตะวันตกจะทำให้ชีวิตตกต่ำไม่เจริญก้าวหน้านั้นเอง
5. จัดองค์พระให้ถูกต้อง
สำหรับใครที่มีการบูชาพระมากกว่า 1 องค์ ควรมีการจัดลำดับองค์พระให้ถูกต้องเหมาะสมตามหลักการเพื่อความเจริฐก้าวหน้า ซึ่งสามารถจัดวางตามลำดับได้ ดังนี้
1. พระพุทธรูป
พระประธานสูงสุดจะต้องเป็นพระพุทธรูป เนื่องจากพระพุทธรูปเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า ศาสดาของศาสนาพุทธ โดยจัดวางตามลำดับบารมีขององค์พระ และระวังอย่าให้ช่อดอกไม้อยู่สูงกว่าพระประธานเด็ดขาด
2. พระอรหันต์
พระอรหันต์ที่นิยมบูชาในบ้านได้แก่ พระสารีบุตร พระอานนท์ พระสีวลี พระอุปคุต เป็นต้น ควรวางพระอรหันต์ในตำแหน่งรองลงมาจากพระพุทธรูปตามลำดับ
3. พระอริยสงฆ์
เช่น หลวงปูทวด หลวงปู่โต จัดลำดับโดยพิจารณาจากลำดับการละกายสังขารและลำดับความอาวุโส แล้ววางไล่จากฝั่งซ้ายไปฝั่งขวาขององค์พระพุทธรูปตามลำดับ
4. รูปเหมือนสมมติสงฆ์
หรือพระเกจิอาจารย์ตามศรัทธา เช่น หลวงตามหาบัว หลวงพ่อคูณ เป็นต้น
5. พระบรมรูปพระมหากษัตริย์ไทย
รูปเคารพ รูปปั้นขององค์พระมหากษัตริย์ อาทิ พ่อขุนรามคำแหง พระนเรศวร พระเจ้าตากสินมหาราช หรือรัชกาลที่ 9 เป็นต้น
6. เทพฮินดู
เช่น พระศิวะ พระแม่อุมา พระนารายณ์ พระลักษมี พระพรหม เป็นต้น
7. พระบรมสารีริกธาตุ พระธาตุ
8. อัฐิ รูปบูชาของบรรพบุรุษ
9. สิ่งปลุกเสกอื่นๆ (สำหรับข้อนี้แนะนำให้แยกหิ้งบูชาจะดีกว่า หรือหากจะวางรวมในหิ้งพระก็ควรจัดใส่พานให้เรียบร้อย)
นอกจากการจัดเรียงลำดับองค์พระให้ถูกต้องแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือการรักษาความสะอาดของโต๊ะหมู่บูชาหรือหิ้งพระอยู่เสมอ เพื่อเป็นการเสริมสร้างบารมีให้เจ้าของบ้านต่อไป
ทั้งหมดนี้คือการจัดฮวงจุ้ยห้องพระเพื่อความเป็นสิริมงคล ร่มเย็นเป็นสุขของบ้าน อย่างไรก็ตาม แม้เราจะจัดดูแลห้องพระได้ดีและถูกต้องขนาดใหน สิ่งสำคัญที่สุดก็ย่อมเป็นการปฏิบัติตัวของเราเอง หากเรายังคงเป็นคนไร้ซึ้งศีลธรรม เบียดเบียนผู้อื่น ความเป็นสิริมงคลก็ย่อมไม่มีวันเกิด แต่หากเราทำความดี ละเว้นความชั่ว สร้างบุญกุศลอยู่เสมอ แม้เราจะไม่มีโต๊ะหมู่บูชาที่ใหญ่โตในบ้าน สิ่งดีๆก็ย่อมเกิดขึ้นกับคนๆนั้นอย่างแน่นอน