1.ความพร้อมของสถานที่
เริ่มจากการตรวจสอบกำลังไฟภายในบ้าน เพื่อให้รู้ว่าในแต่ละเดือนคุณใช้กำลังไฟอยู่ที่เท่าไร และควรเลือกติดโซล่าเซลล์ขนาดเท่าไรจึงจะเหมาะสม จากนั้นก็ให้ตรวจสอบหลังคาบ้าน ตั้งแต่ความแข็งแรงของโครงสร้างไปจนถึงวัสดุที่ใช้ เพราะการติดตั้งโซล่าเซลล์จะเป็นการติดตั้งในระยะยาว หากไม่ตรวจสอบให้ดีอาจจะทำให้เกิดผลกระทบจากการรับน้ำหนักมากเกินไปได้ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของรูปทรงหลังคาที่ต้องตรวจสอบ เพราะหลังคาแต่ละรูปทรงจะมีความยากง่ายในการติดตั้งโซลาเซล์ต่างกัน เช่น หลังคาทรงจั่วที่ติดตั้งได้ง่ายที่สุด หรือหลังคาทรงเพิงแหงนที่มีพื้นที่เยอะแต่ความลาดเอียงน้อย จึงทำให้มีข้อจำกัดในเรื่องการระบายน้ำที่จะส่งผลต่อการรั่วซึม เป็นต้น
นอกจากเรื่องโครงสร้างและรูปทรงของหลังคาแล้ว ทิศทางเองก็มีส่วนสำคัญ โดยทิศที่เหมาะต่อการติดตั้งโซลาเซลล์ที่สุดจะเป็นทิศใต้ เพราะประเทศไทยนั้น พระอาทิตย์จะขึ้นทางทิศตะวันออก และอ้อมไปทางทิศใต้เพื่อไปตกทางทิศตะวันตก ดังนั้น การติดโซลาเซลล์ทางทิศนี้จะทำให้ได้รับแสงแดดตลอดทั้งวัน โดยสามารถเอียงแผงเล็กน้อยเพื่อให้แผงสามารถรับแสงได้อย่างเต็มที่นั้นเอง
2.ประเภทของแผงโซล่าเซลล์
โซล่าเซลล์ที่ติดตั้งที่บ้านจะนิยมใช้ระบบออนกริด ( On Grid ) ซึ่งเป็นระบบที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายและเหมาะกับการติดตั้งในที่พักอาศัย โดยแผงโซล่าเซลล์ที่นิยมใช้จะแบ่งเป็น 3 ประเภทคือ
- แผงโมโนคริสตัลไลน์ (Monocrystalline Silicon Solar Cells) เป็นแผงที่มีประสิทธิภาพสูง ผลิตไฟได้ดีแม้แสงแดดจะน้อย แต่ค่อนข้างมีราคาสูงกว่าแผงชนิดอื่น
- แผงโพลีคริสตัลไลน์ (Polycrystalline Silicon Solar Cells) มีราคาไม่แพง ประสิทธิภาพในการใช้งานในที่อุณหภูมิสูงดีกว่าโมโนคริสตัลไลน์เล็กน้อย แต่ประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าจะต่ำกว่า ซึ่งเฉลี่ยแล้วอยู่ที่13-16% นอกจากนี้ยังมีอายุการใช้งานค่อนข้างสั้น
- แผงโซล่าเซลล์ชนิดฟิล์มบาง (Thin Film Solar Cells) มีราคาถูกที่สุด น้ำหนักเบา ทนต่อสภาพอากาศร้อนและโค้งงอได้ดี แต่ก็มีประสิทธิภาพต่ำที่สุด และมีอายุการใช้งานที่สั้นที่สุด จึงไม่เหมาะจะนำมาติดตั้งในภาคอุสาหกรรมและในบ้าน
3.เลือกผู้ให้บริการติดตั้งโซล่าเซลล์
แม้ในปัจจุบัน เราจะสามารถศึกษาขั้นตอนการติดตั้งโซล่าเซลล์ได้ด้วยตัวเอง แต่เพื่อความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน การให้ช่างผู้ชำนาญการมาติดตั้งให้ย่อมเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด โดยคุณสามารถเลือกช่างที่มีความเชี่ยวชาญให้สอดคล้องกับงบประมาณที่เหมาะสม ในปัจุบันมีผู้ให้บริการหลากหลายและราคาที่แตกต่างกันไป ดังนั้น คุณควรเลือกผู้ให้บริการอย่างน้อย 2-3 บริษัทเพื่อนำมาเปรียบเทียบราคา ข้อดี ข้อเสีย การให้บริการอื่นๆ เช่น บริการหลังการขายและประกันก่อนตัดสินใจ
4.ทำเรื่องขอติดตั้งแผงโซล่าเซลล์
เป็นขั้นตอนการขออนุญาตใช้โซล่าเซลล์ในบ้าน ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ค่อนข้างจะยุ่งยากและมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ โดยจะแบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอนหลัก ดังนี้
- ให้ผู้เชี่ยวชาญเข้าไปทำการสำรวจสถานที่ วัดขนาด และทิศทางก่อนเริ่มทำการติดตั้ง
- เตรียมเอกสารต่างๆ เข้าไปยื่นที่การไฟฟ้านครหลวงหรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยเอกสารที่ต้องนำไปยื่น โดยสามารถดูรายละเอียดของเอกสารเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงาน กกพ. หรือ www.erc.or.th
5.ดูแลแผงโซล่าเซลล์
หลังจากติดแผงโซล่าเซลล์แล้ว สิ่งต่อไปที่ควรคำนึงถึงคือการดูแลรักษาความสะอาด และหมั่นตรวจสภาพแผงโซล่าเซลล์อยู่เสมอ เพราะหากขาดการดูแลเป็นระยะเวลานาน อาจจะทำให้โซล่าเซลล์รับแสงได้น้อยลง ซึ่งจะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการผลิตพลังงานไฟฟ้าได้
นอกจากที่กล่าวมาข้างต้น อีกหนี่งสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการพิจารณาคือพฤติกรรมการใช้งาน เพราะโซลาเซลล์จะเหมาะกับบ้านที่ใช้ไฟในตอนกลางวันเป็นปริมาณมาก ซึ่งทำให้ถึงจุดคุ้มทุนเร็วกว่า ดังนั้น การติดโซลาเซลล์จะคุ้มหรือไม่สิ่งสำคัญที่สุดก็ขึ้นอยู่กับการใช้งานของแต่ละบุคคล ก่อนจะตัดสินใจก็ควรพิจารณาปัจจัยต่างๆให้ดี เพื่อที่จะได้ไม่รู้สึกเกียดายเงินก้อนที่จ่ายลงไปในภายหลังนั้นเอง