รอยร้าวอันตรายในบ้าน

11 ส.ค. 2565
          รอยร้าวเป็นปัญหาที่มักพบได้ทั้งในบ้านใหม่ที่ก่อสร้างไม่ได้คุณภาพและบ้านเก่าที่ทรุดโทรมไปตามกาลเวลา การเกิดรอยร้าวนอกจากจะส่งผลต่อภาพลักษณ์และความสวยงามของตัวบ้านแล้ว ยังมีเรื่องของความปลอดภัยที่น่ากังวลอีกด้วย เพราะรอยร้าวคือสิ่งที่บ่งบอกถึงปัญหาภายในของบ้านในขณะนั้นได้ ความรุนแรงของรอยร้าวมีอยู่หลายระดับ ตั้งแต่ระดับที่ไม่เป็นอันรายไปจนถึงระดับที่ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญมาแก้ปัญหาเพื่อความปลอดภัย ดังนั้น เราจึงควรรู้จักรอยร้าวประเภทต่างๆเพื่อจะได้รู้วิธีแก้ไขได้อย่างถูกต้อง ดังนี้

          1.รอยร้าวบนคาน

          คาน คือ ส่วนประกอบหนึ่งที่เชื่อมต่ออยู่กับเสาบ้าน มีหน้าที่ถ่ายเทน้ำหนักเพื่อส่งต่อไปยังเสาอีกต่อหนึ่ง หากจะให้เปรียบกับร่างกายมนุษย์ก็คงจะเป็นโครงกระดูกที่ทำหน้าที่ซัปพอร์ตให้บ้านหรืออาคารมีความมั่นคงแข็งแรงยิ่งขึ้น ดังนั้น คานจึงเป็นสิ่งที่เราควรใส่ใจเป็นพิเศษ ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยของตัวเรา รอยร้าวบนคานสามารถแย่งได้ ดังนี้

          - รอยร้าวลักษณะแตกล่อนบนคาน

รอยร้าวประเภทนี้มักเกิดจากการใช้คอนกรีตคุณภาพต่ำ จึงทำให้คอนกรีตแตกร้าวหรือหลุดล่อนออกจากคานเป็นจุดๆไม่สม่ำเสมอ โดยมากไม่มีอันตราย แต่ควรตรวจเช็คอย่างสม่ำเสมอว่าการหลุดล่อนนั้นได้ลุกลามมากเกินไปหรือไม่ หากมากไปก็อาจต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อแก้ไข

          - รอยร้าว 45 องศาที่ริมคานและรอยร้าวรูปตัว U ใต้ท้องคาน

รอยร้าวกลางคานรูปตัวยู U และรอยร้าวแนวเฉียง 45 องศาบริเวณริมคาน เกิดจากการที่คานรับน้ำหนักมากเกินไปจนคานแอ่นและดันผนังใต้คานให้เกิดรอยร้าวขึ้น หากปล่อยไว้อาจเกิดปัญหากับตัวโครงสร้างบ้านได้ ควรลดน้ำหนักบริเวณเหนือคานลงและปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้มาแก้ไขโดยเร็ว

          2.รอยร้าวบนผนัง

          เป็นรอยบนผนังที่พบเห็นได้ทั่วไปตามบ้านและอาคารสูง มักเป็นรอยขนาดเล็กเท่าไส้ดินสอและส่วนใหญ่ไม่เป็นอันตรายต่อตัวโครงสร้าง แต่ก็มีบางรอยที่ต้องได้รับการแก้ไขโดยด่วนเพราะอาจเกิดอันตรายได้เช่นกัน รอยร้าวบนผนังแบ่งเป็นรอยต่างๆ ดังนี้

          - รอยร้าวผนังแบบแตกลายงา

เป็นรอยร้าวผนังที่สามารถพบเห็นได้บ่อยมากที่สุด โดยสาเหตุหลักๆ มาจากการผสมปูนที่ไม่ได้สัดส่วน หรือการฉาบปูนจากช่างที่ไม่มีความชำนาญพอ โดยรอยร้าวลักษณะนี้ไม่เป็นอันตราย ไม่ส่งผลต่อโครงสร้างภายใน แต่ก็ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ เพราะหากเกิดฝนตก ผนังจะกักเก็บความชื้นจนบวม ทำให้เกิดปัญหาสีลอกและเชื้อราได้

          - รอยร้าวตรงรอยต่อผนังกับเสาและคาน

รอยร้าวนี้มักจะเกิดขึ้นกับปลายทั้งสองข้างของคาน สาเหตุส่วนใหญ่จะมาจากการที่คานต้องรับน้ำหนักที่มากเกินไป ทำให้เสาและคานแยกตัวออกจากกัน รอยร้าวลักษณะนี้เป็นอันตราย อาจเป็นสาเหตุให้บ้านหรืออาคารถล่มลงมาได้ ควรให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาแก้ไขโดยด่วน

          - รอยร้าวแนวดิ่งกลางผนัง

หากรอยร้าวเป็นแนวตั้งหรือมีลักษณะของรอยที่กว้างช่วงบนแล้วแคบลงมา แสดงว่าโครงสร้างภายในอาคารมีปัญหา หรือคานรับน้ำหนักมากเกินไปจนทำให้หินหรืออิฐภายในผนังดันตัวจนเกิดเป็นรอยร้าว รอยร้าวลักษณะนี้เป็นอันตราย ควรเรียกช่างผู้เชี่ยวชาญมาซ่อมแซมโดยด่วน นอกจากนี้ ควรย้ายของจากชั้นบนลงมาเพื่อเป็นการถ่ายเทน้ำหนักในเบื้องต้นด้วย

          - รอยร้าวแนวเฉียงกลางผนัง

รอยร้าวแบบแนวทแยงหรือแบบเฉียงกลางผนัง มักเกิดจากปัญหาเกี่ยวกับฐานรากของตัวบ้าน เช่น เสาบางต้นมีการทรุดตัวทำให้ไม่สามารถรับน้ำหนักได้ดีหรือการต่อเติมบ้านที่ไม่ถูกต้องตามหลักวิศวกรรม รอยร้าวลักษณะนี้เป็นอันตรายเพราะสามารถเห็นได้อย่างชัดเจนว่าผนังทำกำลังจะพังลงมาแล้ว ควรปรึกษาช่างผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้มาแก้ไขโดยด่วน

          3. รอยร้าวบนเสา

          รอยร้าวบนเสามักเกิดจากการเสื่อมสภาพตามกาลเวลา การเกิดรอยร้าวบนเสามีหลากหลายรูปแบบดังนี้

          - รอยร้าวแนวดิ่งที่เกิดขึ้นบริเวณโคนเสา

เกิดจากการที่เสารับน้ำหนักมากเกินไป

          - รอยร้าวแนวเฉียง 45 องศา

เกิดจากการรับแรงเฉือนตอนที่อาคารมีการทรุดตัวได้ไม่เท่ากัน

          - รอยร้าวในเสา

เกิดจากการที่เหล็กที่อยู่ในเสาเป็นสนิม มีเนื้อพรุนเป็นโพรง

          4.รอยร้าวบนเพดาน

รอยร้าวบนเพดานที่เห็นเด่นชัด มี 3 ประเภทที่อาจเกิดปัญหาแตกต่างกัน ดังนี้

          - รอยร้าวแบบใยแมงมุม

รอยร้าวแบบใยแมงมุม เป็นรอยร้าวที่มีขนาดเล็ก พบเห็นได้ตามปกติ ส่วนใหญ่ไม่มีความรุนแรงเพราะมักจะเกิดจากอายุที่เพิ่มขึ้นของบ้าน ทว่าถ้าหากรอยร้าวลักษณะนี้มีขนาดกว้างมากเกินไป ควรรีบปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เพราะอาจสื่อถึงการทรุดตัวหรือปัญหาฐานรากและโครงสร้างได้

          - รอยร้าวแนวดิ่ง

รอยร้าวแนวดิ่ง หรือรอยร้าวแนวตั้ง มีลักษณะของรอยร้าวเป็นเส้นตามแนวยาวตั้งแต่เพดานลงมาจนถึงผนัง เกิดจากความเสียดายทางด้านโครงสร้าง การทรุดตัวของฐานราก หรือผนังเปราะบาง ซึ่งเป็นปัญหาที่ค่อนข้างจะรุนแรง ควรให้ผู้เชี่ยวชาญมาตรวจสอบและแก้ไขให้เร็วที่สุด

          - รอยร้าวที่มาพร้อมกับการยุบตัวของเพดาน

เป็นรอยร้าวที่พบเห็นได้บ่อย เกิดจากฐานรากเริ่มมีปัญหา จนทำให้เพดานเคลื่อนตัว เป็นรอยร้าวที่มีความรุนแรง ถ้าหากพบควรรีบปรึกษาผู้เชี่ยวชาญโดยเร็ว

          5.รอยร้าวบนพื้น

          - รอยร้าวบนพื้นเป็นรอยแนวเฉียงเข้าหาเสาทั้งสี่มุม

เกิดจากการที่พื้นมีการแอ่นตัวเพราะต้องรองรับน้ำหนักที่มากเกินไป

          - รอยร้าวเป็นแนวเส้นตรงบนพื้นหรือเป็นรูปตีนกา

เกิดจากตัวคอนกรีตมีการยืดและหดตัวตามสภาพภูมิอากาศ หากเป็นรอยลึกให้ระมัดระวังเรื่องการรั่วซึม เพราะอาจส่งผลต่อโครงสร้างของเหล็กภายในที่อาจเป็นสนิมได้

เมื่อพบรอยร้าวที่เป็นอันตราย สิ่งแรกที่เจ้าของบ้านควรทำคือการย้ายสิ่งของออกจากบริเวณที่เกิดปัญหาให้หมด เพื่อลดน้ำหนักและแรงกดทับของโครงสร้าง แล้วติดต่อช่างหรือวิศวกรผู้เชี่ยวชาญเข้ามาประเมินความเสียหายและหาทางแก้ไขโดยด่วน ทั้งนี้ก็เพื่อให้บ้านของเราคงอยู่ต่อไปอย่างสวยงามและมั่นคงนั้นเอง



เรื่องราวที่ใกล้เคียง

ข้อมูลบริษัท
บริษัท บีเคเค เรียลตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด
525/89 ซอยลาดพร้าว 126 (กรัณฑ์พร) แขวงพลับพลา เขตวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร 10310
020759855 ,0983029898
Info.assetfinding@gmail.com