1) ค่าจองและทำสัญญา
ค่าใช้จ่ายแรกที่จะเจอแน่นอนหากต้องการซื้อบ้านหรือคอนโด คือ “ค่าจอง” และ “ค่าทำสัญญา” ผู้ขายจะให้ผู้ซื้อจ่ายเงินเพื่อจองยูนิตเอาไว้ก่อน โดยเฉพาะในโครงการบ้านทำเลดีๆและมีคนสนใจมาก โดยค่าจองจะมีตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหลักหมื่นตามแต่โปรโมชั่นของทางโครงการ ส่วนค่าทำสัญญาจะจ่ายหลังจากนั้นประมาณ 1 สัปดาห์ แต่ในบางโครงการอาจจะให้จ่ายรวมเป็นก้อนเดียวกันเลยก็ได้ ในแต่ละโครงการจะมีราคาค่าใช้จ่ายในส่วนนี้แตกต่างกันไป แต่ส่วนใหญ่แล้วมักจะอยู่ที่ 5,000 บาทขึ้นไป ซึ่งผู้ซื้อสามารถดูรายละเอียดเหล่านี้ได้จากใบเสนอราคาที่ขอจากเจ้าหน้าที่โครงการได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ในกรณีที่มีการเปลี่ยนใจและต้องการยกเลิกการจอง ส่วนใหญ่แล้วจะไม่สามารถขอคืนค่าจองได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของโครงการอีกทีหนึ่ง เพราะฉะนั้นก่อนจะตัดสินใจจองบ้านหรือคอนโด ผู้ซื้อก็ควรศึกษารายละเอียดและทำความเข้าใจให้เรียบร้อยเสียก่อน เพื่อที่คุณจะได้ไม่เสียเงินเสียเวลาฟรีนั้นเอง
2) เงินผ่อนดาวน์
หลังจากที่เรามีการจองและทำสัญญาในการซื้อขายเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็จะเป็นการผ่อนดาวน์ โดยผู้ซื้อจะต้องผ่อนดาวน์ไปเป็นงวดๆของราคาขายตามแต่ละโครงการจะกำหนด แต่ถ้าโครงการยังอยู่ในช่วง Pre-sale หรือ อยู่ระหว่างก่อสร้าง ผู้ซื้อจะต้องผ่อนดาวน์อย่างน้อย 5-10% ของราคาขาย ซึ่งการผ่อนช่วงนี้จะยังไม่มีดอกเบี้ย เพราะเป็นการผ่อนกับโครงการตามจำนวนเดือนก่อนโครงการจะเสร็จ แต่ข้อเสียคือในระหว่างนี้เราจะเข้าไปอยู่ในนั้นไม่ได้ และนั้นอาจทำให้เรามีภาระ 2 ทางคือทั้งค่าเช่าห้องปัจจุบันและค่าผ่อนดาวน์ ดังนั้นจึงต้องวางแผนการเงินในช่วงนี้ให้ดีด้วย
3) ค่าใช้จ่ายในการขอสินเชื่อ
- ค่าธรรมเนียมยื่นกู้
ค่าธรรมเนียมการดำเนินการที่ธนาคารเรียกเก็บกับผู้กู้ โดยมากจะอยู่ที่ 0-1% ของวงเงินกู้ แต่บางธนาคารอาจจะมีการยกเว้นค่าธรรมเนียม ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและการตกลงเจรจาอีกทีหนึ่ง
- ค่าประเมินราคา
ค่าสำรวจและประเมินราคาบ้านหรือที่ดิน เพื่อนำมาใช้ประกอบกับการพิจารณาขอสินเชื่อ ค่าธรรมเนียมจะอยู่ในอัตรา 0-0.5% ของราคาประเมินสินทรัพย์ หรือตั้งแต่ 0-5,000 บาท ตามแต่ที่ธนาคารกับโครงการจะตกลงกัน
- ค่าประกันสินเชื่อบ้าน
ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ ธนาคารไม่ได้บังคับให้ทำ แต่แนะนำให้ลองเอาไปพิจารณา เพราะถ้าผู้ขอสินเชื่อมีการทำประกันเอาไว้ หากวันหนึ่งเกิดอุบัติเหตุไม่คาดฝันจนเสียชีวิตหรือทุพพลภาพและไม่สามารถผ่อนบ้านได้ บริษัทประกันก็จะช่วยคุ้มครองตามวงเงินกู้นั้นและทำให้ครอบครัวไม่ต้องแบกรับภาระหนี้สินที่มากจนเกินไป แน่นอนว่ามันย่อมทำให้ภาระหนี้ต่อเดือนเพิ่มสูงขึ้นเพราะจะมีการจ่ายเบี้ยประกันพร้อมค่างวดที่ใช้ผ่อนบ้าน ดังนั้น ก่อนจะตัดสินใจก็ควรพิจารณาให้ดีตามความเหมาะสมก่อนนั้นเอง
4) ค่าประกันบ้าน
ในขั้นตอนการขอสินเชื่อบ้าน นอกจากจะมีการจ่ายค่าธรรมเนียมต่างๆเพื่อขอสินเชื่อแล้ว คุณยังจะต้องซื้อประกันให้กับบ้านอีกด้วย โดยเฉพาะประกันอัคคีภัยที่กฏหมายบังคับให้ต้องซื้อ โดยกรมธรรม์นี้จะคุ้มครองไปกรณีไฟไหม้ทุกอย่าง เช่น ฟ้าผ่า ไฟฟ้าลัดวงจร เป็นต้น โดยมากเบี้ยประกันจะไม่เกิน 0.1% ของวงเงินคุ้มครอง และหากคุณมีงบประมาณเพียงพอ ก็อาจจะซื้อประกันภัยพิบัติอื่นๆเพิ่มเติมได้ เช่น ประภัยจากเหตุน้ำท่วม ซึ่งประกันส่วนนี้กฎหมายไม่ได้บังคับแต่อย่างใด
5) ค่าใช้จ่ายวันโอนกรรมสิทธิ์
ก่อนที่จะย้ายเข้าไปอยู่ในบ้าน จะต้องมีการโอนกรรมสิทธิ์เพื่อให้บ้านหรือคอนโดฯนั้นเป็นชื่อของผู้ซื้อเสียก่อน โดยจะแบ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายให้ “กรมที่ดิน” กับค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายให้ “โครงการ”
- ค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายให้ “กรมที่ดิน”
เริ่มจาก “ค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์” ซึ่งจะอยู่ที่ 2% ของราคาประเมินของกรมที่ดิน แต่บางโครงการอาจจะมีการจ่ายคนละครึ่งกับผู้ซื้อ ต่อมาคือ “ค่าจดจำนอง” ซึ่งจะเป็น 1% ของเงินจำนองหรือจำนวนเงินกู้ เพื่อเป็นหลักประกันชำระหนี้ โดยบางโครงการจะช่วยจ่ายครึ่งหนึ่ง และสุดท้ายคือ “ค่าอากรแสตมป์” จะเป็น 0.05% ของราคาขายแต่ไม่เกิน 10,000 บาท
- ใช้จ่ายที่ต้องจ่ายให้ “โครงการ”
เริ่มจาก “ค่าเงินกองทุน” ค่าใช้จ่ายส่วนนี้บางโครงการอาจจะไม่มีก็ได้ โดยจะชำระเพียงครั้งเดียวในวันโอนกรรมสิทธิ์ และคิดราคาต่อตารางเมตร ต่อมาคือ “ค่าส่วนกลาง” โดยดูได้จากใบเสนอราคาว่าต้องเสียเดือนละเท่าไรหรือปีละเท่าไร จากนั้นก็เตรียมจำนวนเงินเอาไว้ให้พอ สุดท้ายคือ “ค่าติดตั้งและประกันมิเตอร์น้ำ-ไฟ” สำหรับค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะขึ้นอยู่กับขนาดของมิเตอร์ไฟฟ้าและประปา โดยจะเป็นไปตามข้อกำหนดของการไฟฟ้าและการปะปาของพื้นที่นั้นๆ
ทั้งหมดนี้คือค่าใช้จ่ายพื้นฐานที่ต้องเตรียมสำหรับการซื้อบ้านหนึ่งหลัง ซึ่งบางโครงการอาจจะมีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายบางอย่างเพิ่มเติมนอกเหนือจากนี้ก็ได้ แต่อย่าได้กังวลไป เพราะค่าใช้จ่ายทั้งหมดไม่ได้จ่ายพร้อมกันภายในวันเดียว แต่จะค่อยๆทยอยจ่ายไปทีละน้อย นอกจากนี้ บางโครงการอาจจะมีโปรโมชั่นเพื่อลดหย่อนอัตราดอกเบี้ยและอื่นๆอีกมากมาย เพราะฉะนั้นผู้ซื้อเองก็ควรติดตามข่าวและวางแผนให้ดี เพื่อจะได้ไม่มีปัญหาเรื่องสภาพการเงินนั้นเอง